จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่พอใจผู้สื่อข่าวหญิง สังกัดหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น นั่งไขว่ห้าง ระหว่างแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทั่งนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายมุมมอง ก่อนที่ทางทำเนียบรัฐบาล จะไม่อนุญาติให้ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวเข้าทำเนียบรัฐบาลอีก
รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ไม่ได้เห็นว่าท่าไขว่ห้างที่ผู้สื่อข่าวนั่งเป็นอย่างไร เพราะท่านั่งไขว่ห้าง ในทางจิตวิทยามีทั้งแบบที่นั่งแล้วดูสุภาพ เป็นสากล กับการไขว่ห้างที่บอกท่าทางแสดงตน แสดงอำนาจ หรือไขว่ห้างด้วยความมั่นใจ ซึ่งมีลักษณะต่างกัน
การอยู่ในบริบทสมัยใหม่อันหล่อหลอมด้วยวิธีการคิดแบบเด็กสมัยใหม่ อาจมีความแตกต่างออกไปจากรุ่นก่อน เป็นเรื่องของเจเนอเรชั่นที่มองว่า การนั่งอย่างสุภาพควรเป็นอย่างไร กับการนั่งด้วยความมั่นใจในตัวเองเป็นอย่างไร ประเด็นนี้น่าจะเกิดจากการมองสัญญะของการนั่งคนละรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นการนั่งฟังแถลงข่าว ไม่ใช่การนั่งให้สัมภาษณ์ ส่วนตัวไม่คิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องบางเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ถ้ามองแล้วเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสัญญะอันสำคัญ ก็คิดกันคนละรูปแบบ เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้นในสถานการณ์ของการแถลงข่าว ซึ่งไม่ควรเอาเรื่องเล็กน้อยมาเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรสื่อ
เพราะถ้าคิดแค่นี้จะยังมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น พูดจาไม่สุภาพ ไม่มีคะ ขา ถ้าจับประเด็นนี้ก็ต้องเอาประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับมารยาทมาพูดกันทั้งหมดหรือเปล่า ถ้าเห็นเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ก็จะกลายเป็นประเด็น ทุกอย่างถูกโยงสู่ประเด็นเรื่องสัมพันธภาพระหว่างผู้นำกับสื่อ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่
กรณีนายกฯโยนเปลือกกล้วย ฉีดแอลกอฮอล์ใส่นักข่าว สะท้อนสังคมอำนาจนิยม ที่ผู้ใหญ่จะทำกับเด็กอย่างไรก็ได้ ไม่ผิด แต่เด็กทำแบบเดียวกันไม่ได้ ในเรื่องเดียวกัน คนมีอำนาจสามารถทำได้
นี่เป็นแนวคิดของสังคมไทยอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะหลุดจากกรอบนี้ได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
ด้าน ธีระพล อันมัย อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี มองว่า ที่ผ่านมาองค์กรสื่อไทยสมประโยชน์กับอำนาจนิยมที่กดทับสังคมไทยมานานมากนับตั้งแต่มีรัฐประหาร สังเกตจากเวลาคณะรัฐประหารแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) สมาคมสื่อก็จะมีตัวแทนเข้าไปอยู่ในนั้นเสมอ แทนที่สมาคมพวกนั้น จะเป็นหัวหอกออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานคือ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน แต่องค์กรสื่อไทยกลับทำตัวเป็นพวกเดียวกับคณะรัฐประหาร
จึงไม่ค่อยเห็นแถลงการณ์ขององค์กรสื่อไทยในหลายกรณี เพราะ มองปรากฏการณ์หลายๆ อย่างด้วยสายตาของผู้กดขี่ หรือผู้สนับสนุนการกดขี่ไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ทำอะไรก็ไม่ผิดหรือดูน่ารักไปหมด แต่ถ้าเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายทักษิณ หรือรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนแล้ว องค์กรเหล่านี้จะมีแถลงการณ์ไวมากและเรียกร้องเยอะมาก
ถามว่า มีใครสามารถมีสิทธิห้ามสื่อบางคน บางสำนัก ไม่ให้ทำข่าวได้ด้วยหรือ มีคำพิพากษาศาลออกมาหรือยัง กรณีแบบนี้ต่างหากที่องค์กรสื่อจะต้องออกแถลงการณ์เรียกร้องเพื่อสื่อที่ถูกปิดกั้นเสรีภาพ ไม่ใช่มาอ้างจริยธรรมเพื่อประณามสื่อที่นั่งไขว่ห้าง แต่เงียบเฉยต่อการปิดกั้นสิทธิการทำหน้าที่ของสื่อ
ส่วนตัวไม่มีปัญหากับการนั่ง การยืน การเดินของคนเป็นนักข่าว ถ้าการนั่ง การยืน หรือการเดินนั้น ไม่ได้กดทับหรือเบียดขับคนอื่นให้ไม่มีที่นั่งหรือที่ยืน หรือไม่ได้ทำให้คนอื่นเห็นภาพอุจาดตา แต่กลับสนใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวมากกว่า ว่าได้ตั้งคำถามอันเป็นประเด็นสำคัญและแหลมคมพอหรือไม่ ได้ทำหน้าที่เป็นปากเสียง เป็นหมาเฝ้าบ้านจริงๆ หรือไม่
ผู้ที่มีปัญหากับการนั่งไขว่ห้างของนักข่าวหญิง คือพวกที่เติบโตมากับระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ เป็นพวกอำนาจนิยม พวกนี้สนใจตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผมจรดปลายเท้าของผู้หญิง สะท้อนปัญหาสังคมนี้ที่กดทับผู้หญิงไว้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน คุณกดทับผู้หญิงไว้เพื่อให้เธอเป็นกุลสตรี เป็นศรีภรรยา เป็นแม่ศรีบ้านแม่ศรีเรือน พอผู้หญิงยืน เดิน นั่ง นอน ผิดจากกรอบที่ชายกำหนดหรือตีกรอบไว้ พวกนี้ก็จะทนไม่ได้
เพราะมันบั่นทอนความคิด ความเชื่อของผู้ชาย