สงครามกลางเมืองเมียนมา!

สำหรับนักสังเกตการณ์และผู้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาแล้ว หลายฝ่ายมีความกังวลคล้ายกันว่า ความรุนแรงที่ทวีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังนำไปสู่จุดสูงสุดของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศ คือ การก้าวไปสู่ “สงครามกลางเมือง” ดังเช่นที่เกิดในหลายประเทศในปัจจุบัน

ดังนั้น หากมองภาพรวมของสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญ 10 ประการ ได้แก่

1) นับจากการยึดอำนาจของผู้นำทหารเมียนมาที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว การต่อต้านรัฐบาลทหารเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลทหารจะใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลไม่กลัว และยังคงเดินหน้าต่อสู้ต่อไป ซึ่งกำลังเป็นการพิสูจน์จากกรณีนี้ว่า มาตรการปราบปรามทางทหารอย่างรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่หยุดยั้งการเคลื่อนไหวของมวลชนได้แต่อย่างใด การปราบปรามที่เกิดขึ้นกลับส่งผลกระทบโดยตรงกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารอย่างหนัก และทำให้รัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก

2) การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารเดินถึงจุดสำคัญประการหนึ่งคือ การจัดตั้งองค์กรที่เป็นเสมือน “รัฐบาลผลัดถิ่น” ของฝ่ายประชาธิปไตยขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ อันเป็นองค์กรที่เป็นคณะกรรมการตัวแทนของกลุ่มการเมืองต่างๆ หรือที่ใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษว่า “CRPH” การกำเนิดขององค์กรเช่นนี้ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีตัวแทนที่จะเปิดการเคลื่อนไหวในเวทีสากลได้อย่างชอบธรรม ซึ่งต่างจากการต่อสู้กับการรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้ในเมียนมา

3) ในการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ ได้เห็นท่าทีของชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ตอบรับกับการจัดตั้งรัฐบาลทหารเท่าใดนัก แม้พวกเขาอาจจะไม่พอใจกับนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลของพรรคเอ็นแอลดี ที่นำโดยนางอองซาน ซูจี แต่ไม่ได้หมายความว่า ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะยอมรับการหวนคืนของรัฐบาลทหารอีกครั้ง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาในยุคที่รัฐบาลทหารมีอำนาจ ก็ไม่ได้มีสัญญาณเชิงบวกจากทางฝ่ายกองทัพที่จะขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง

4) การไม่ยอมรับรัฐบาลทหารของผู้นำชนกลุ่มน้อยสะท้อนให้เห็นชัดเจนอีกส่วนจากการที่กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย ได้ร่วมกันจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างกลุ่มต่างๆ ในการต่อต้านรัฐบาลเนปิดอว์ ซึ่งในด้านหนึ่งเท่ากับทำให้ องค์กร CRPH มีฐานสนับสนุนที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ชัดเจน และในหลายพื้นที่ กองกำลังเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องการชุมนุมของผู้ประท้วง ไม่ให้ถูกปราบปรามจากกำลังตำรวจและทหารของรัฐบาล

5) แม้หลายฝ่ายจะมีความรู้สึกว่า สหประชาชาติมีความเป็น “เสือกระดาษ” อย่างมากต่อการมีบทบาทที่จะต้องเข้าแทรกแซงในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับบทบาทของจีนและรัสเซียที่พร้อมจะปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีสหประชาชาติ อันส่งผลเวทีคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาตินั้น ไม่สามารถจะเดินหน้าแก้ปัญหาได้มากเท่าที่ควร แต่กระนั้นก็เห็นถึงท่าทีของสหประชาชาติที่ไม่ตอบรับรัฐประหาร และพยายามเรียกร้องให้เวทีโลกเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ความรุนแรงในเมียนมา แม้สิ่งนี้จะเป็นดัง “เสียงคำรามของเสือกระดาษ” ที่ผู้นำทหารเมียนมา ผู้นำจีนและรัสเซียไม่รู้สึกกังวลมากนัก แต่เสียงเรียกร้องที่เกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายทางการเมืองระหว่างประเทศกับรัฐบาลทหาร

6) แม้รัฐบาลทหารเมียนมา จะได้รับความสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศจากทั้งจีนและรัสเซีย แต่การแสดงบทบาทเป็นผู้ปกป้องระบอบอำนาจนิยมเนปิดอว์อย่างชัดเจนนั้น ก็ส่งผลกระทบต่อบทบาทของจีนในอนาคตอย่างมาก การเผาโรงงานทอผ้าของจีน 32 แห่งในเขตพื้นที่ย่างกุ้ง เป็นภาพสะท้อนของกระแสความไม่พอใจ จนอาจต้องถือว่าเป็นการก่อตัวของ “กระแสต่อต้านจีน” อย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค และยิ่งจีนแสดงบทบาทเป็นผู้ปกป้องรัฐบาลทหารมากเท่าใด กระแสต่อต้านจีนก็ยิ่งทวีสูงมากขึ้นเท่านั้น และก็จะยิ่งกลายเป็นข้อจำกัดต่อบทบาทของจีนในการแก้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ จนทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนขอพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของบางประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ (ไม่รวมไทย) เพื่อพูดคุยหาลู่ทางในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ครั้งนี้ที่กรุงปักกิ่งระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน นี้

7) การแซงชั่นผู้นำทหารเมียนมาของรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แม้อาจจะดูว่ายังทำอะไรไม่ได้อย่างจริงจัง แต่ก็ส่งผลลบในทางการทูตอย่างมาก และยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงกระแสในเวทีสากลไม่สนับสนุนรัฐประหาร และในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้ออกถ้อยแถลงที่ชัดเจนที่ไม่ยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้น แม้ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามสร้างหลักฐานว่า รัฐบาลพลเรือนเดิมโกงการเลือกตั้ง หรือผู้นำพลเรือนอย่างนางอองซานซูจีมีเรื่องการรับสินบน และการคอร์รัปชั่น แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครในเวทีระหว่างประเทศให้ความสนใจกับข้ออ้างและหลักฐานเหล่านี้ และมองการสร้างหลักฐานของผู้นำทหารว่า เป็นเพียงการหาเหตุในการยึดอำนาจมากกว่า และข้ออ้างเช่นนี้ไม่มีเหตุผลที่ต้องการปราบคอร์รัปชั่นจริงๆ อีกทั้งหลายฝ่ายเองก็รับรู้อย่างดีว่า ผู้นำทหารเมียนมา “ไม่สะอาดและไม่โปร่งใส” ไม่ได้แตกต่างกับผู้นำทหารที่มาจากการรัฐประหารในหลายประเทศ และเหตุผลการทำรัฐประหารจึงเป็นเพียงการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำทหารมากกว่า

8) การออกแถลงการณ์ของผู้นำทหารระดับสูงสุด 12 ประเทศ ต้องถือเป็นมิติใหม่ เพราะโดยปกติแล้วผู้นำทหารในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่แสดงออกทางการเมือง และการแสดงท่าทีของประเทศต่อปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะถือเป็นเรื่องของรัฐบาลพลเรือนโดยตรง แต่ในครั้งนี้ผู้นำสูงสุดทางทหารได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี กรีก อิตาลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรียกร้องให้ทหารเมียนมากลับสู้การเป็น “ทหารอาชีพ” และยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน

9) แม้รัฐบาลทหารพยายามจะสร้างภาพว่า พวกเขาควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศได้ ด้วยการจัดงาน “วันกองทัพเมียนมา” ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม ที่มีการสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ในแบบของรัฐทหาร และตามมาด้วยการจัดงานเลี้ยงที่ผู้นำทหารเมียนมาแต่งเครื่องแบบเต็มยศออกรับแขกต่างประเทศที่มาร่วมงาน ซึ่งในงานนี้มี 8 ประเทศได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม ลาว และไทย แต่ในวันนั้น กองทัพได้สังหารประชาชนของตนเองไปไม่น้อยกว่า 114 ชีวิต อันทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า วันกองทัพเมียนมาคือ “วันสังหารประชาชน” และส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์ทั้งต่อรัฐบาลทหาร และประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานอย่างมาก

10) บทบาทขององค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง “อาเซียน” กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า อาเซียนจะยึดติดอยู่กับหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” อันมีนัยถึงการยอมรับถึงการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น และทั้งยังเป็นการยอมรับอย่างมีนัยสำคัญต่อการปราบปรามที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งหากอาเซียนไม่ดำเนินการอะไรเลย ย่อมเท่ากับอาเซียนกำลังยอมรับต่อการใช้กำลังของรัฐในการสังหารประชาชนในประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำให้หลักของการไม่แทรกแซงกิจการภายในแปรเปลี่ยนเป็น “หลักการยอมรับการสังหารหมู่” ที่รัฐบาลชาติสมาชิกของอาเซียนจะสังหารประชาชนของตนเองอย่างก็ได้ โดยอาเซียนจะไม่รับรู้ด้วย และอาเซียนจะไม่แทรกแซง แต่การสังหารขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทหารเมียนมากำลังท้าทายอย่างมากว่า อาเซียนจะอยู่กับ “หลักการยอมรับการสังหารหมู่” ไปได้อีกนานเพียงใด เมื่อประชาคมระหว่างประเทศมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้แทรกแซงการใช้ความรุนแรงของรัฐในเมียนมา

สถานการณ์เช่นนี้ในด้านหนึ่ง รัฐบาลทหารจะยังคงใช้มาตรการปราบปรามและสังหารประชาชนเมียนมาต่อไป แต่ขณะเดียวกันการยกระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” ได้ไม่ยากนัก และในอีกด้านทุกฝ่ายล้วนเฝ้าดูว่า การแทรกแซงทางการเมืองและการทูตที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นจริงเพียงใด เพราะรัฐมหาอำนาจอย่างจีนพร้อมที่จะพิทักษ์รัฐบาลทหารอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนในเมียนมา และแม้รัฐบาลทหารจะ “ต่ออายุ” ได้ด้วยการสนับสนุนของจีนและรัสเซีย แต่ระบอบทหารก็จะดำรงอยู่อย่างไร้เสถียรภาพด้วยการปราบปรามประชาชน

ดังนั้น ยิ่งสถานการณ์ความรุนแรงล่วงเลยไปนานเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการ “โหมไฟสงคราม” ในเมียนมาให้ปะทุมากขึ้น รอเวลาที่เมียนมาจะเดินไปสู่ “สงครามกลางเมือง” ดังเช่นที่โลกเห็นมาแล้วไม่ว่าจะเป็นในซีเรีย หรือในเยเมนก็ตาม !

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.