(7 มีนาคม 2562) เวลา 13.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะหัวข้อ “เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน” เชิญตัวแทนพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวเปิดงาน และ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการ
วัฒนา เมืองสุข ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน นโยบายสำคัญที่จะทำหลังเลือกตั้ง 3R คือ 1.Restore Economy พลิกฟื้นเศรษฐกิจ 2.Return Power to the People คืนอำนาจให้ประชาชน และ 3.Reform Government Authority สิ่งที่เป็นปัญหาต้องถูกปฏิรูปก่อน
“นโยบายสำคัญอย่างแรกคือการเคารพสิทธิการแสดงออก อะไรที่กระทบสิทธิพื้นฐานของการเป็นคนต้องยกเลิก ระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักประกันราคาถูกสุดที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่พรรคต้องทำควบคู่คือการปฏิรูปองค์กรที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมากที่สุด เช่น องค์กรในกระบวนการยุติธรรมและกองทัพ รวมถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหารด้วยที่ไม่สอดคล้องกับบริบทภัยคุกคามรูปแบบใหม่ มากกว่านั้นกฎหมายใดที่ออกมาโดยขัดหลักนิติธรรม พรรคเพื่อไทยจะยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องบริบทสิทธิมนุษยชนโลก คือเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ” วัฒนากล่าว
อลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเหมือนสองด้านของเหรียญที่ขาดกันไม่ได้ แต่จะขับเคลื่อนไปในบริบทภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ประเพณี ธรรมเนียม ระบบกฎหมาย และความเชื่อที่ต่างกันในแต่ละประเทศ
“สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะทำถ้าได้เป็นรัฐบาล คือ 1.จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติจัดทำกรอบสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครอบคลุมประเด็นสำคัญ 21 สิทธิตามแนวทางยูพีอาร์ 2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะปฏิรูปตำรวจให้เหลือแต่ตำรวจส่วนกลาง นอกนั้นเป็นตำรวจจังหวัด ถ้าเราให้ต้นน้ำกระบวนการยุติธรรมอยู่ในกรอบการตรวจสอบและมีส่วนร่วมจากประชาชนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสิทธิมนุษยชน 3.การปฏิรูปกฎหมาย” อลงกรณ์กล่าว
พาลินี งามพริ้ง ตัวแทนพรรคมหาชน กล่าวว่า นโยบายพรรคมุ่งให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความเป็นพลเมืองและวัฒนธรรมซึ่งครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชนครบถ้วน ความเท่าเทียมทางการเมืองคือมุ่งเน้นการทำการเมืองแบบไม่แบ่งฝ่ายไม่เลือกข้าง สนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะถ้าเน้นฝักฝ่ายจะแก้ปัญหาประเทศไม่ได้
“เรื่องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจต้องให้มีการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้เท่ากันโดยมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจออนไลน์ เรื่องสิทธิมนุษยชนความเท่าเทียมต้องมีการปลดล็อก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนด้อยโอกาสที่ทำงานในภาคบริการ ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเรายึดมั่นแน่นอน” พาลินีกล่าว
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าวว่า อุดมการณ์ 3 ข้อของพรรคสามัญชนคือ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม นโยบายทุกข้อจึงเป็นนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีนโยบายที่โดดเด่นต่างจากพรรคอื่นคือ 1.สร้างกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย 2.ผลักดันเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ผู้หญิงต้องมีสิทธิตัดสินใจเรื่องร่างกายของตัวเองรวมถึงเรื่องการทำแท้ง3.ทบทวนกฎหมายอาญาที่จำกัดสิทธิและกีดดันแรงงานข้ามชาติและพนักงานทางเพศไม่ให้เข้าถึงสวัสดิการ รวมทั้งกฎหมายที่กีดกันผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้าถึงสิทธิการทำงาน นอกจากนี้ยังมีนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ แรงงานพลัดถิ่น ผู้พิการ
“หากเป็นรัฐบาลสิ่งแรกที่จะทำคือแก้กฎหมายที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนทั้งหมด ยกเลิกคำสั่งคสช.ทั้ง 35 ฉบับ ยุติการดำเนินคดีกับใครที่พยายามพูดความจริงในสังคม ยกเลิกข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นทางการเมืองของคนไทยทุกคนและคนที่ลี้ภัยในต่างประเทศ” เกรียงศักดิ์กล่าว
พรรณิการ์ วานิช ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า โครงสร้างนโยบายพรรคอนาคตใหม่ประกอบด้วย 3นโยบายฐานราก 8นโยบายเสาหลัก และ1ปักธงประชาธิปไตย มุ่งหมายในการสร้างสังคมที่คนเท่าเทียมกัน นำประเทศไทยไปเท่าทันโลก เรื่องสิทธิมนุษยชนที่เร่งด่วนที่สุดคือสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่เช่นกฎอัยการศึกหรือพรก.ฉุกเฉิน แล้วใช้กฎหมายปกติ อย่าให้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติและยิ่งสร้างความคับแค้นใจเติมเชื้อไฟให้สามจังหวัด แล้วต้องมีการทำกระบวนการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านที่รวมถึงประชาชนไทยทุกคนที่ถูกละเมิดโดยรัฐต้องได้รับการเยียวยา
“เราต้องการการปรองดอง แต่การลืมทุกอย่างแล้วจับมือกันเรียกว่าหมกเม็ดซุกขยะใต้พรม หากทำความยุติธรรมให้ปรากฏแล้วความปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในประเทศนี้ เราต้องกำจัดกฎหมายไม่เป็นธรรมที่รัฐใช้อำนาจละเมิดประชาชน ต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่บัญญัติให้คำสั่งคสช.ถูกต้องชอบธรรม ประกาศคำสั่งคสช.ต้องถูกพิจารณาใหม่หมด ประกาศคำสั่งที่มีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริตให้เปลี่ยนเป็นกฎกระทรวงหรือกฎหมายอื่น ประกาศใดที่ละเมิดประชาชนต้องยกเลิกและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย” พรรณิการ์กล่าว
ทั้งนี้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มาร่วมฟังโดยมีการทำบัตรเลือกตั้งวาระสิทธิมนุษยชนให้โหวตเลือกประเด็นที่อยากให้ผลักดันมากที่สุด ประกอบด้วย 1.ยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย 2.ยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ 3.คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 4.ส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ 5.คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 6.คุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยรวมถึงแรงงานข้ามชาติ 7.ส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวในการใช้คอมพิวเตอร์ 8.ให้การเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน 9.ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยประเด็นที่ได้รับคะแนนโหวตมากสุดคือการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองที่มาร่วมเวทีเห็นด้วยในการปกป้องสิทธิในการแสดงออกซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน
ในช่วงท้าย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมอบ “วาระสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง” ให้กับตัวแทนทั้ง 5 พรรค โดยเรียกร้องผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองให้ยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน ย้ำรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ และยุติการลอยนวลพ้นผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ