ผู้ว่าฯ คนดัง “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” พบปะภาคเอกชนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ห้องประชุมใบธง เฮลท์ตี้ เซ็นเตอร์ “หัสนัย แก้วกุล” กรรมการสภาหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา 8 ปี เสนอยึดจุดยืน STOP & START มาจากไหนให้หยุดพักพะเยา พร้อมผลักดันเส้นทางโลจิสติกส์สายล้านนาตะวันออก เตรียมแผนแม่บทเสนอภาครัฐต่อไป
นายคงศักดิ์ ธรานิศร ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดพะเยา สมาคมพะเยา YEC จังหวัดพะเยา บริษัทประชารัฐพะเยา ชมรมธนาคาร สมาพันธ์ SME จังหวัดพะเยา ได้เชิญนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พบปะพูดคุยกับภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลความเป็นมาของพะเยาและรับฟังยุทธศาสตร์จังหวัดพะเยาจากนายณรงค์ศักดิ์
“วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์อีกหนึ่งวันที่เราจะมียุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะทำให้จังหวัดพะเยาเปลี่ยนไป นับจากปี พ.ศ.2520 อำเภอพะเยา เปลี่ยนเป็นจังหวัดพะเยา พ.ศ.2542 พะเยามีมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา พ.ศ.2553 เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา และในปีนี้ พ.ศ.2561 ด่านสากลบ้านฮวกก็จะเป็นจุดเปลี่ยนจังหวัดพะเยาอีกครั้ง”
โดยนายคงศักดิ์อธิบายถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้ว่า “ด่านบ้านฮวกเป็นด่านที่อยู่ในจุดที่เดินทางได้สะดวกและสั้นที่สุดที่จะไปจีนตอนใต้, เดียนเบียนฟู เวียดนาม และหลวงพระบาง สปป.ลาว นับจากจุดที่ตั้งของพะเยานับว่าเป็นไข่แดงที่จะไปจังหวัดรอบข้าง ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เราจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว การพาณิชย์ มูลค่าจะเพิ่มมากกว่าพันล้านบาทในเวลาไม่เกิน 3 ปีนับจากนี้”
ท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ท่านกล่าวกับผมว่า ท่านเป็นเพียงนักยุทธศาสตร์ ผู้วางแผน และผมในฐานะภาคเอกชน ต้องเป็นผู้นำเสนอและผลักดัน ซึ่งในการพบปะกับภาคเอกชนครั้งนี้นั้น ภาคเอกชนพยายามผลักดันเส้นทางโลจิสติกส์สายล้านนาตะวันออก อ.เชียงของ-เทิง จ.เชียงราย, เชียงคำ-ปง-เชียงม่วน-สอง จ.พะเยา, จ.แพร่, จ.อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก เป็นเส้นทางขนส่ง ทำให้เป็นถนนสายเอเชียหลักที่จะส่งออก-นำเข้า ส่วนถนนสายเอเชีย 1 เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว
ด้านการผลักดันสร้างสนามบินที่จังหวัดพะเยานั้น นายคงศักดิ์ให้ข้อคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า “เรื่องสนามบินจังหวัดพะเยา ความเป็นไปได้ควรจะลงทุนไม่มาก ต้องคุ้มค่ากับการลงทุน คาดว่าน่าจะเป็นที่สนามบินเชียงคำ เครื่องบินขนาดเล็ก ไม่เกิน 78 ที่นั่ง แบบใบพัด หรือเครื่องเจ็ต ต้องมีการขยายรันเวย์จาก 500 เมตร เป็น 2,000 เมตร เรื่องนี้ยังคงต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ หรือหากโชคดี มีสายการบินเอกชนร่วมลงทุนก็จะใช้เวลาน้อยกว่าที่ควรเป็น”
“โดยสรุปเราจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับทางจังหวัดพะเยา เป็นคณะทำงานโลจิสติกส์สายล้านนาตะวันออก เพื่อทำการวางแผน เขียนแผนงาน ผลักดัน และติดตาม เตรียมแผนสำหรับเสนอเพื่อรองรับงบประมาณจากภาครัฐต่อไป”
นายหัสนัย แก้วกุล ในฐานะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดพะเยา ได้ให้แนวคิดจัดทำแผนแม่บทการคมนาคมเพื่อการพัฒนาจังหวัดพะเยา โดยไม่เน้นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่เป็นการมองภาพรวมเพื่อการพัฒนาจังหวัดพะเยาที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัดพะเยา และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว กล่าวได้ว่าจังหวัดพะเยาคือจุดสต็อปและจุดสตาร์ทหลักของภูมิภาค
“พะเยาผมแบ่งเป็น 2 โซน หน้าเขากับหลังเขา หน้าเขาประกอบไปด้วย 4 อำเภอ คือ อ.เมือง, แม่ใจ, ภูกามยาว, และดอกคำใต้ หลังเขา 5 อำเภอ คือ อ.เชียงคำ, ภูซาง, จุน, ปง และเชียงม่วน การจะพัฒนาจังหวัดให้คนมาอยู่พะเยาต้องพัฒนาให้สมดุล อย่าให้หน้าเขาเจริญ หลังเขาขาดการดูแลเอาใจใส่ ดังนั้น ถ้าเราพัฒนาหน้าเขาหลังเขาพร้อมกันก็เป็นจุดที่ทำให้การพัฒนาเชื่อมโยงกันได้ อยากจะเห็นพะเยาเป็นสนามแม่เหล็กดึงดูดคนมาลงทุน นักท่องเที่ยวอยากมาพะเยา เป็นจุดสตาร์ทของการเดินทาง”
“หน้าเขาเรามีกว๊าน ที่เราเห็นอยู่สามารถเก็บน้ำได้ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร จังหวัดพะเยาได้งบปีที่แล้วมาพัฒนากว๊านกว่า 343 ล้านบาท ส่วนหนึ่งคือการทำฝายพับได้ของประมง จะเพิ่มการบรรจุน้ำได้อีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เราจะเห็นน้ำปริ่มกว๊านถึง 53 ล้านลูกบาศก์เมตร กว๊านเมื่อน้ำเต็มความสวยงามก็จะตามมา เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ นักท่องเที่ยวมาก็อยากมาดูน้ำเต็มกว๊าน”
“ส่วนที่สองคือมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยงามมากในภูมิภาค สามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย รวมไปถึงศูนย์การแพทย์ของภูมิภาค ก็เป็นอีกแม่เหล็กสำคัญ”
“ส่วนที่สาม ด่านสากลบ้านฮวก พูดกันมาค่อนข้างนาน ผมเองสมัยเป็นประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา 8 ปี ผ่านมา 7 ผู้ว่าราชการจังหวัด เริ่มในสมัยท่านเชิดศักดิ์ ชูศรี ประมาณปี พ.ศ.2552-2553 ที่มาที่ไปคือจะทำอย่างไรให้นักลงทุนเห็นว่าพะเยามีศักยภาพ โดยการผลักดันเส้นทางเชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่-พะเยา-หลวงพระบาง เป็นเส้นทางที่ให้นักท่องเที่ยวจากเชียงใหม่ไปหลวงพระบางโดยมีจุดสตาร์ทที่จังหวัดพะเยา และในปี พ.ศ.2555 ครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ มีมติเห็นชอบให้ยกฐานะจากจุดผ่อนปรนบ้าน
ฮวกเป็นจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก”
“แม่เหล็กที่ 4 คืออ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีในอนาคต อ.เชียงม่วน จะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดน่าน-แพร่ โดยนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากบ้านหลวง ล่องแพมาเรื่อยๆ 1 คืน แล้วมาขึ้นที่สันเขื่อนเชียงม่วน”
“ครั้งหนึ่งเคยมีซินแสทำนายไว้ว่า ถ้าทำหลังเขาให้เจริญได้ จะส่งผลมาถึงตัวเมืองพะเยา เขาว่าหัวมังกรอยู่ที่ อ.ภูซาง หางอยู่ที่ อ.เชียงม่วน เมื่อหัวมังกรเปิดแล้ว คือด่านบ้านฮวก ขณะที่หางคืออ่างเก็บน้ำน้ำปี้ที่กำลังจะใกล้เสร็จ แต่ทั้งนี้จังหวัดพะเยาต้องวางแผนให้การคมนาคมระหว่างสองเมืองใหญ่ คือ อ.เมืองพะเยา กับ อ.เชียงคำ ให้ถนนเส้นนี้เป็น 4 ช่องจราจร การเดินทางจะสะดวกสบาย ใช้เวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมงจากเชียงคำไปภูซาง และจาก อ.จุน-ปง-เชียงม่วน จาก 9 เมตร ขยายเป็น 12 เมตร”
“ดังนั้นการพัฒนาเมืองโดยมีแผนแม่บท เส้นทางสะดวก การเชื่อมกลุ่มจังหวัดสะดวก พะเยาก็จะกลายเป็นศูนย์กลาง จึงเหมาะกับการเป็นจุดสตาร์ท นอนพะเยาหนึ่งคืน เริ่มต้นการเดินทางตอนเช้าไปยังสิบสองปันนา เดียนเบียนฟู หนานหนิง ก็ง่าย หรือถ้าเริ่มจากที่อื่น พะเยาก็จะเป็นจุดสต๊อป เพราะค่ำพอดี การพัฒนาเมืองจึงน่าจะออกมารูปแบบนี้ แต่ถ้าเราไม่มีแผนรองรับก็จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก มองภาพไม่ออก ขณะที่แผนแม่บทโลจิสติกส์พะเยาก็ไม่มี ผู้ว่าราชการจังหวัดมาปีสองปี ครึ่งปีบ้าง ผู้ว่าฯ มาใหม่นโยบายก็ใหม่ เปลี่ยนไปอีก แต่ถ้ามีแผนไว้เมื่อมีงบเข้ามาก็สามารถนำแผนพัฒนาดังกล่าวเสนอได้ทันที ไม่ใช่มานั่งเทียนเขียนแผนกันอย่างเร่งรีบเพียงหนึ่งอาทิตย์”
“นี่คือมุมมองและจากประสบการณ์ของภาคเอกชนในขณะที่ผมเคยเป็นประธานหอการค้าพะเยามา 8 ปี ขณะเดียวกัน รถไฟรางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ก็ผ่านพะเยาแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำพะเยาก็สูงกว่าเชียงรายแล้ว เรามาร่วมกันสร้างพะเยาให้เจริญทัดเทียมกับจังหวัดข้างเคียง ไม่น้อยหน้าใคร”