สับปะรดเชียงรายปีนี้ไม่ขาย “แจกฟรี”

ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สับปะรดเป็นคันๆ รถกระบะขนลงมากองอยู่ข้างถนนพหลโยธิน ห้าแยกพ่อขุน แล้วคนก็มาเลือกเอาตามใจชอบ ใส่ถุงกลับบ้านโดยไม่ต้องซื้อหา เพราะเขาแจกฟรี และมีหลายคนหลายหน่วยหน่วยงานทำเช่นเดียวกันนี้ เช่น สล่าเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซื้อสับปะรดกว่า 3 พันตัน แจกนักท่องเที่ยวฟรีที่วัดร่องขุ่น พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย ซื้อสับปะรดไปแจกตามตลาดและชุมชนต่างๆ มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 หรือแม้แต่ อบต.ป่าหุ่ง อ.พาน โดยนายกฤษณะ แก้วดี นายก อบต.ก็นำงบช่วยเหลือเกษตรกร 200,000 บาท มาซื้อสับปะรดจากชาวสวนในเขตพื้นที่ป่าหุ่งกิโลกรัมละ 2 บาท แล้วนำไปขายชาวบ้านกิโลกรัมละ 1 บาท สามารถระบายสับปะรดได้กว่า 8 ตันแล้ว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลก็ได้เปิดเผยแนวทางแก้ไขปัญหานี้ว่า ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำในระยะนี้เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อผลผลิตสับปะรดที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทำให้ราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกสับปะรดได้รับความเดือดร้อน ซึ่งปกติในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดมาก มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณวันละ 10,000-12,000 ตัน แต่ปัจจุบันความต้องการสับปะรดของโรงงานแปรรูปมีประมาณวันละ 9,000-10,000 ตันเท่านั้น ทำให้โรงงานแปรรูปปรับราคารับซื้อลดลง

อีกสาเหตุหนึ่งที่มีความสำคัญ คือเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปี 2558 ปี 2559 ราคาสับปะรดบริโภคสด อยู่ที่กิโลกรัมละ 18-20 บาท เกษตรกรจึงได้หันไปปลูกสับปะรด เพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรดจำนวนมาก รวมถึงสภาพอากาศที่เหมาะสม ในปีนี้ผลผลิตดีสับปะรดจึงล้นตลาด คาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้มีผลผลิตสับปะรดที่ออกสู่ตลาดในช่วง 1-2 เดือนนี้ จะมีประมาณ 2.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 35% ขณะที่ปริมาณความต้องการสับปะรดภายในประเทศทั้งการบริโภคสด ส่งโรงงานและส่งออกนั้นมีประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น

ในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตสับปะรดราคาตกต่ำนั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในระยะสั้น ได้เน้นการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดผลสด ในแต่ละจังหวัดมีการกระจายผลผลิตผ่านเครือข่ายส่วนราชการ สหกรณ์ฯ การขอความร่วมมือกับสถานศึกษา สถานพยาบาล โรงแรม สถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว ให้นำผลผลิตสับปะรดมาใช้ทำอาหาร และผลักดันการส่งออกและขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศทั้งในรูปแบบการทำตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐ กลุ่มอียู และรูปแบบรัฐต่อรัฐกับประเทศรัสเซียและอิหร่าน เป็นต้น

ซึ่งในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำข้อมูลให้เกษตรกรรับรู้วงจรการผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรใช้ข้อมูลเหล่านี้พิจารณาในการเพาะปลูกพืชในฤดูกาลใหม่

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะนำแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิตระยะที่ 1 (ปี 2561-2564) โดยจัดกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงาน 100 กิโลเมตร กำหนดเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปสับปะรด รวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ส่วนอีกกลุ่มจังหวัดที่มีการปลูกสับปะรดแต่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด กำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อเน้นการบริโภคสด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งการดำเนินการ กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน โครงการ งบประมาณ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่มพื้นที่

รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนในหลายแนวทาง เช่น การลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ผลิตตามความต้องการของตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าทางการเกษตร การยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด ณ เดือนมิถุนายน 61 มีราคาที่สูงขึ้นมาก เช่น ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 18,800 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีราคาตันละ 11,200 บาท นับเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี จนเกรงว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวกันมากขึ้นและเมื่อผลผลิตออกมามากก็จะส่งผลกระทบต่อราคาได้ จึงขอให้เกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่และปริมาณเท่าเดิม แต่เน้นการควบคุมคุณภาพให้ดีและเน้นปลูกข้าวที่คุณภาพดีและตลาดต้องการสูง โดยเฉพาะข้าว กข21 กข59 เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดในต่างประเทศ และข้าว กข43 ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค นอกนั้นยังมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นมาก โดยความชื้น 30% ราคา 7.50-7.70 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับปีก่อน 5.00-5.10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาลใหม่รัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือล่วงหน้าแล้ว ทั้งการประสานผู้ผลิตอาหารสัตว์และสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์เข้าไปรับซื้อ การใช้มาตรการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่รับซื้อข้าวโพดเพื่อให้สามารถติดตามดูแลได้ และจะกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ให้มีปริมาณมากจนเกินไป

และอีกตัวอย่างหนึ่งคือมันสำปะหลัง ปัจจุบันราคาหัวมันสด เชื้อแป้ง 25% ราคา 3.15 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน อันเป็นผลสำเร็จจากการเดินหน้าหาตลาดส่งออกทั้งตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และหาตลาดใหม่ เช่น ตุรกี และนิวซีแลนด์ และที่สำคัญได้กำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าจนกระทบต่อราคาภายในประเทศ

ทางด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รวบรวมปัญหาของเกษตรกรเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว พบปัญหาหลักๆ อาทิ มีการลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นต้น สภาพปรากฏขณะนี้คือเกษตรกรเป็นผู้สูงอายุ ไม่วางแผนเพาะปลูก ยากต่อการรับองค์ความรู้ใหม่ ทำตามความเคยชิน ขาดมุมมองการตลาด นิยมปลูกอย่างเป็นอิสระ ขาดการรวมตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต แม้มีแหล่งเงินทุนโดยเฉพาะ ธ.ก.ส.แต่ขาดแผนการเงินที่ดี จึงเกิดการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เมื่อถึงคราวต้องเพาะปลูกจึงต้องไปกู้เงินนอกระบบ และไม่ทำบัญชีกำไรขาดทุน และกว่าครึ่งไม่มีที่ดินทำกิน จึงขาดแรงจูงใจในการดูแลสภาพดิน และเมื่อผลผลิตออกมา เกษตรกรส่วนใหญ่ให้พ่อค้ามาถึงที่ ขาดการรวมตัวเพื่อต่อรองราคา และขาดอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศรองรับ จึงมีขายเป็นวัตถุดิบที่มูลค่าต่ำและราคาผันผวนตามตลาดโลก

นายกฤษฎากล่าวว่า ที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ มีแผนการผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรยังขาดแรงจูงใจที่จะทำตามแผนดังกล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อประสบปัญหาขาดทุน ประสบภัยพิบัติ เกิดความล้มเหลวในอาชีพ ก็ไม่มีใครช่วยเหลือ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวความคิดให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงเทียบเท่าข้าราชการ หรือกรรมกรที่มีสวัสดิการรองรับเมื่อประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ โดยได้นำพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ.2554 ซึ่งมีทุน 2,900 กว่าล้านบาทนั้น มาดำเนินงานต่อ มีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรฯ กำหนด หากในอนาคตเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าตกต่ำ ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ จะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการวางแผนดำเนินงานและหางบสนับสนุนเพิ่มเติม

“มีสถิติว่า บางปีภาครัฐใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท ในการเข้าไปอุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบปัญหา แต่หากนำเงินส่วนนี้มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการแก่เกษตรกร น่าจะใช้งบน้อยกว่าและมีแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชตามแผนที่กระทรวงเกษตรฯ วางไว้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืนจริงๆ” นายกฤษฎากล่าว

1529467522_83159_04

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.