
“สสภช.” สภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ โวยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐบาล จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนฯ ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้มีกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ 9 คน แต่มาจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบไปด้วยคณบดีด้านนิเทศศาสตร์ล้วนๆ ทั้ง 9 คน
สืบเนื่องจากแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีองค์กรวิชาชีพใดที่จะเคลื่อนไหวในสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ซึ่งประกอบด้วยนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธาน นางกนกทิพย์ รัชตะนันทน์ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร นายธงชัย ณ นคร นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด รอ.ประยุทธ์ เสาวคนธ์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายเสรี วงษ์มณฑา นายสุทธิชัย หยุ่น กรรมการ และ ศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ กรรมการและเลขานุการ กำลังดำเนินการอยู่ เนื่องจากองค์กรสื่อส่วนใหญ่คัดค้านที่จะให้มีองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐมาปฏิรูปสื่ออยู่แล้ว โดยยืนยันที่จะให้มีการควบคุมกันเองตลอดมาและตลอดไป แต่คณะกรรมการที่ ครม.หรือ คสช.แต่งตั้งขึ้นก็ยังคงยืนยันที่จะให้มีองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้นเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ (สสภช.) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้ง 4 ภาค ดูเหมือนจะเป็นองค์กรเดียวที่สนับสนุนการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวทางของ สปช. สปท.และคณะกรรมการชุดนี้ที่ได้ดำเนินการมา คือการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนฯ ที่ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิเทศศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านสิทธิมนุษยชน ด้านละ 1 คน รวมเป็น 9 คน แต่ไม่เห็นด้วยในหลักการสำคัญคือคณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ประกอบด้วย คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาทางด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ของเอกชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยประเภทละ 3 คน รวม 9 คน โดยไม่มีตัวแทนจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ เลย อันเป็นการผิดวิสัยของการมีกรรมการสรรหาตามมาตรฐานทั่วไปอย่างยิ่ง สสภช.จึงให้มีการทบทวน
นอกจากนี้ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ 4 คน รวม 9 คน แต่กลับให้มาจากการเสนอชื่อขององค์กรวิชาชีพ 6 กลุ่ม คือกลุ่มสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ กลุ่มสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กลุ่มสภาวิชาชีพด้านสื่อออนไลน์ กลุ่มสมาคมวิชาชีพด้านหนังสือพิมพ์ระดับชาติ และกลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น ซึ่งบางกลุ่มดูซ้ำซ้อนกันอยู่และทำให้สับสนระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ ในการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว สื่อมวลชนและสาธารณชนไม่ได้รับทราบรายละเอียดของกระบวนการยกร่างทุกขั้นตอน เหมือนการปฏิรูปด้านอื่นๆ เช่นตำรวจ ทำให้สื่อมวลชนไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับตนเองเลย สสภช.จึงจัดประชุม มีมติและแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศดังข่าว
โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมโรงแรมดุสิตเพลส กรุงเทพฯ นายเกษม แก้วบริสุทธิ์ ประธานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ และคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังจากการประชุมคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.-13.00 น.ที่ผ่านมา การแถลงข่าวดังกล่าวระบุว่า สภาวิชาชีพสื่อมวลชนภูมิภาคแห่งชาติ (สสภช.) ซึ่งรวมสื่อมวลชนภูมิภาคจากทั่วประเทศกว่า 100 องค์กร เฝ้ามองการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนด้วยความตั้งใจและให้กำลังใจ เห็นความสำคัญว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินการของสื่อมวลชนทั้งประเทศ สสภช.เข้าร่วมในการเสนอความเห็นในแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง ยืนยันและเห็นด้วยในหลักการควบคุมกันเอง (Self-regulate) ที่คณะกรรมการร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศได้ประกาศไว้
หลังประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 สสภช.ได้ใช้เวลาศึกษารายละเอียดและพบว่าแผนปฏิรูปได้เสนอแนวทางที่ขัดกับหลักการควบคุมกันเอง (Self-regulate) ตามที่ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อมวลชนได้เห็นพ้อง และมอบอำนาจให้กับกรรมการร่างฯ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการร่างฯ จะดำเนินการตามแนวทางที่มีฉันทามติร่วมกัน ดังประเด็นต่อไปนี้
1.แผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนกำหนดให้มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและกำกับกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ แต่กลับกำหนดให้ “คณะกรรมการสรรหา” กรรมการสภาวิชาชีพ มาจากคณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะภาควิชาทางด้านนิเทศศาสตร์ เท่านั้นทั้ง 9 คน โดยไม่มีสื่อมวลชนเข้าร่วม ย่อมขัดกับหลักการควบคุมกันเอง (Self-regulate) แต่ต้น เพราะหากยึดหลักควบคุมกันเองตามสากล องค์กรควบคุมกันเองของสื่อมวลชน ย่อมต้องมีที่มาจากสื่อมวลชน เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในกลุ่มแพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ฯ
อนึ่งสัดส่วนกรรมการสภาวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นองค์กรหลักในการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน ประกอบด้วยกรรมการ 9 คน ในจำนวนนั้นมีสื่อมวลชนเพียง 5 คน ซึ่งแม้จะขัดกับหลักการควบคุมกันเอง เพราะมีตัวแทนจากภายนอกเข้าร่วม แต่สสภช.น้อมรับในสัดส่วนดังกล่าว เพราะเชื่อว่าภาคประชาชนที่เข้าร่วม จะทำงานร่วมกับสื่อมวลชนภายใต้หลักการควบคุมกันเองได้อย่างไร้อคติ มุ่งประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน
2.แผนปฏิรูปประเทศกำหนดว่าต้องมีการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรมและวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อใช้บังคับควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนทั้งประเทศ โดยกำหนดให้ร่างและประกาศใช้ภายในปี 2561 แต่จนถึงปัจจุบันสื่อมวลชนไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความคืบหน้าในการร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการร่าง และรับทราบเนื้อหาของกฎหมายที่จะนำมาบงคับใช้กับสื่อมวลชนทั่วประเทศ
สสภช.ตระหนักดีว่าแผนปฏิรูปประเทศ ไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายหากแต่เป็นแนวทาง (guideline) ในการดำเนินการ ซึ่งสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ตามสมควร สสภช.จึงเสนอต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบในการกำหนดแผนดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ กับเป็นผู้รักษาการก่อนการได้มาซึ่งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้พิจารณาดังต่อไปนี้
1.ทบทวนที่มาของกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพ โดยยึดหลักควบคุมกันเองอย่างเคร่งครัด
2.เปิดเผย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน และสาธารณชน ได้เข้าถึงและรับทราบรายละเอียดของกระบวนการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้แสงความคิดเห็นต่อกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ต่อวิชาชีพนี้ และที่จะมีผลต่อผู้รับสารและสังคมวงกว้างในระยะยาว
สสภช.ตั้งมั่นในสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน สิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสารที่เป็นจริงและเที่ยงธรรม ภายใต้หลักการควบคุมกันเอง และยินดีจะปฏิบัติตามภายใต้หลักการใดๆ ก็ตามที่จะส่งเสริมให้สื่อมวลชนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน และพร้อมจะท้วงติงในสิ่งที่ขัดกับคุณธรรมและจริยธรรม