ขี้หมูคือทองคำ?!

ดร.ก้องภพ วังสุนทร
เป็นชาวแม่อ้อโดยกำเนิด
ตะลอนไปร่ำเรียนมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ปริญญามาหลายใบ ทั้ง BBA การเงินการธนาคาร MPE เศรษฐกิจการเมือง และ Ph.D.การบริหารพัฒนา
ทำงานมาก็หลายแห่ง ไม่ว่าธนาคารไทยพาณิชย์ เลขาธิการสหกรณ์หม่อนไหมแห่งชาติ เคยเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย จังหวัดบุรีรัมย์ก็เคย แม้แต่ผู้ช่วยการเมือง เยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ
ก็ทำ
ปัจจุบันยังเป็นประธานกรรมการบริษัท Soapstone Mining สัมปทานเหมืองแร่ในลาว เลขาธิการสมัชชาชุมชนเข้มแข็งแห่งประเทศไทย เจ้าของแนวคิดทฤษฎีอนาคตตำบล อนาคตประเทศไทย และยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาตำบลแห่งอนาคต อนาคตประเทศไทยอีกด้วย
จัดว่าเป็น NGO หัวแถวคนหนึ่งของประเทศนี้ แต่เป็น NGO สร้างสรรค์และพัฒนา อีกทั้งยังมีดีกรีนักเรียนนอก
กลับมาบ้านเกิด พบว่ามีการประท้วงต่อต้านการทำฟาร์มหมูขนาดใหญ่ที่จะมีการก่อสร้างขึ้นในตำบลแม่อ้อ ด้วยความที่เป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติการที่แท้จริง จึงอยากจะค้นหาความจริง ว่ามันเป็นไปอย่างที่ชาวบ้านต่อต้านกันหรือไม่ อะไรคือสาเหตุของการต่อต้านที่แท้จริง เพราะโดยหลักการแล้ว ฟาร์มหมูสมัยใหม่สามารถทำได้ ไม่กระทบต่อชุมชน ซ้ำยังเป็นประโยชน์เสียอีก ทั้งในด้านการสร้างอาชีพให้แก่คนในท้องถิ่น สร้างรายได้มากกว่าภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บได้ในปัจจุบัน ทำให้จีดีพีของจังหวัดเติบโต และนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาลในอนาคตและยั่งยืน
ดร.ก้องภพ จึงลงมือทำการวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์และสังเคราะห์ ผลได้-ผลเสียที่มีต่อตำบลแม่อ้อ กรณีโครงการฟาร์มหมูสมัยใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นไปตามที่ชาวบ้าน (กลุ่มหนึ่ง) ประท้วงกัน และถ้าโครงการไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอะไรจะเกิดขึ้น
“ครับ ผมตั้งสมมุติฐานไว้ตามที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งคิดก่อนเลย คือเรื่อง เหม็นขี้หมู กับน้ำเสีย
เราได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลฟาร์มหมูสมัยใหม่ที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมทั้งได้ไปศึกษาดูงานจากฟาร์มหมูจริงๆ และได้สนทนากับผู้บริหาร CPF ที่เปิดดำเนินงานฟาร์มหมูสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐาน “ฟาร์มสีเขียว” และ “โรงงานสีขาว” ไปแล้ว 31 แห่งทั่วประเทศขณะนั้น ตลอดจนเจ้าหน้าที่พบว่าในความเป็นจริงมันตรงข้ามกับสิ่งที่ชาวบ้านหวาดวิตกโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นขี้หมู CPF เขาได้ใช้วิธีดักกลิ่นแบบพัดลมดูดอากาศจากโรงเรือนเลี้ยงหมูที่ปิดมิดชิดมาผ่านละอองน้ำที่พ่นบนแผ่นพลาสติกและกำแพงกาบมะพร้าว เพื่อดักจับจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกลิ่น หรือที่เรียกโดยรวมว่า ระบบฟอกอากาศที่ได้มาตรฐาน แล้วยังมาผ่านแนวต้นไม้หลังกำแพงกาบมะพร้าวอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้แทบจะไม่มีกลิ่นขี้หมูออกมาจากโรงเรือนเลี้ยงหมูเลย อาจจะมีอยู่บ้างเล็กน้อยก็ไม่เกิน 40 เมตรจากอาคารโรงเรือน ซึ่งไม่ถึงชาวบ้านและชุมชนอย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องน้ำเสียก็ไม่มีออกไปจากโรงงาน มีแต่น้ำปุ๋ยเท่านั้น เพราะอะไร เพราะในขี้หมูมีก๊าซชีวภาพอยู่มาก เขาจะปล่อยทิ้งเปล่าๆ ไปทำไมในเมื่อมันมีประโยชน์มาก เขาก็เอาขี้หมูนั้นมาทำไบโอก๊าซเสียก่อน เพื่อเอาก๊าซมาทำ
ไฟฟ้าใช้ในโรงงาน น้ำล้างเล้ากับขี้หมูจะไหลรวมลงในท่อใต้ดินไปสู่บ่อหมักเพื่อนำไปทำไบโอก๊าซที่มีทั้งแผ่นพลาสติก (HPDE) ปูรองด้านล่างไม่ให้น้ำซึมลงใต้ดินและคลุมบ่ออยู่ด้านบนด้วย เพื่อเก็บก๊าซชีวภาพก่อนนำไปใช้งาน ที่ภาษาทางวิชาการเขาเรียกว่าระบบบ่อไร้อากาศแบบคลุมบ่อ (Anaerobic Covered Lagoons) ข้อดีของระบบนี้คือไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนและสามารถใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพได้หลากหลาย
สำหรับส่วนที่เป็นน้ำก็จะไหลมายังบ่อบำบัดแบบ Open Lagoon ซึ่งมีอยู่ถึง 5 บ่อ พอผ่านบ่อที่ 2 ที่ 3 ก็เป็นน้ำปุ๋ยแล้ว ใช้รดต้นไม้และนำกลับมาล้างโรงเรือนได้ ส่วนกากที่เหลือก็จะนำเข้าสู่ลานตาก ตัวนี้แหละเมื่อแห้งแล้วจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่พวกเราเกษตรกร Organic ต้องการมาก ผมถึงบอกว่าสำหรับผมแล้ว ในฐานะประธานโครงการตำบลเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร และผู้อำนวยการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาตำบลแห่งอนาคตประเทศไทย ขี้หมูเป็นทองคำ เพราะช่วยประหยัดค่าปุ๋ยเคมีให้เกษตรกรไปได้ปีละหลายสิบล้านบาท แล้วยังเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้อีกหลายสิบเท่า เพราะผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญและมีประโยชน์กับเกษตรกรตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงเสียดายมากหากโครงการนี้ถูกระงับยับยั้งไปและชาวแม่อ้อจะเสียโอกาสนี้อย่างยิ่ง เพราะจากผลการวิจัยข้อดีจากฟาร์มหมูสมัยใหม่ เราจะได้มูลสุกรมาทำน้ำปุ๋ยและปุ๋ยอินทรีย์จำนวนมาก ฟาร์มจะสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านหลายร้อยครอบครัวและสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งตอบแทนให้กับสังคมได้หลากหลายรูปแบบ และความจริงแล้วเราไม่มีสิทธิ์จะไปประท้วงหรือคัดค้านเขา เพราะโครงการนี้เป็นโครงการของเอกชน ไม่ใช่โครงการของรัฐ ไม่ได้เป็นโครงการที่ได้สัมปทานจากรัฐด้วย ฟาร์มหมูมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 เท่านั้น ยิ่ง อบต.ถ้าเขาทำตามขั้นตอน ระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดไว้ทุกประการ อบต.ก็ต้องออกใบอนุญาตให้ ถ้าไม่ออกให้ก็มีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แล้วก็ใบอนุญาตนั้นก็เป็นแบบปีต่อปี ถ้าการดำเนินกิจการของฟาร์มส่งผลกระทบต่อประชาชน อบต.ก็สามารถออกคำสั่งให้ฟาร์มแก้ไขหรือหยุดกิจการได้ทันที กฎหมายได้ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอยู่แล้ว ไม่งั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เขาคงไม่ได้เปิดฟาร์มเลี้ยงหมูมาเป็น 30-40 แห่ง ในหลายจังหวัดแล้วหรอก ไม่เห็นชาวบ้านเขามีปัญหาอะไร หมูก็ยังส่งออกนอกผ่านเชียงรายทุกวัน วันละหลายๆ คันรถด้วย
ผมจึงสรุปได้ว่าโครงการนี้ที่ถูกประท้วงคัดค้านมาจากการเมือง มาจากพวกมิจฉาชีพที่อาศัยความรู้ไม่เท่าทันของชาวบ้านเป็นเครื่องมือตบทรัพย์เอกชน จึงอยากให้ชาวแม่อ้อพี่น้องของผมอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพเสเพลพวกนี้อีก ต่อไปลองให้ฟาร์มหมูเกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้พี่น้องเดือดร้อนสิ ผมนี่แหละจะออกมาชนกับเขาเอง เราต้องว่ากันไปตามกฎหมายครับ อย่าทำอะไรที่ตัดโอกาสตัวเองและพี่น้องของเราโดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เลยครับ”