ฟาร์มสุกรสมัยใหม่ไม่มีกลิ่น CPF ทำได้

ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว สายวันหนึ่งต้นเดือนพฤษภาคมนี้เอง เราได้รับเชิญจากบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ให้ไปเยี่ยมชมฟาร์มสุกร “วัดโบสถ์” ต.ทับยายเชียง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อให้เห็นกับตา ดมกับจมูก และยินกับเสียง ว่าฟาร์มสุกรมาตรฐานระดับซีพี หรือจะพูดชัดชัดก็คือระดับโลกนั้นเขาทำกันอย่างไร เป็นไปตามที่ “นักการเมืองเสเพล” บิดเบือน เป่าหูจูงจมูกชาวบ้านที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรือไม่
จะว่าเพื่อให้เป็นสักขีพยานในฐานะคนกลาง รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ป้องกันการปิดบังซ่อนเร้นของนักลงทุน… ก็ว่าได้
เมื่อไปถึง “ฟาร์มวัดโบสถ์” ประตูหลักด้านหน้าปิดสนิท เราต้องทำตามกฎป้องกันเชื้อโรค โดยทุกคนต้องลงจากรถ และใช้ไฟรังสีตรวจเชื้อภายในรถเสียก่อน หากไม่พบเชื้อใดภายในรถ ประตูเหล็กจึงจะเปิดออกให้โดยอัตโนมัติ
ยังไม่พอ… เมื่อพ้นประตูเหล็กมาแล้ว ก็จะต้องนำรถลงไปในแอ่งน้ำตื้นๆ ที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคผสมอยู่ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะติดมากับยางล้อรถยนต์ เสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นแหละจึงนำรถเข้าไปยังลานจอดได้

คุณบริลักษมณ์ จึงธนาเจริญเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ CPF สายธุรกิจสุกร ออกมาต้อนรับคณะเรานำไปยังห้องประชุมซึ่งอยู่ใกล้กับลานจอดรถและโรงเรือนเลี้ยงสุกรนั่นเอง
ระหว่างทางเดินจากลานจอดรถไปยังห้องประชุม เราไม่ได้ “กลิ่นขี้หมู” เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่โรงเรือนเลี้ยงหมูเรียงเป็นตับอยู่ห่างจากทางเดินไปไม่ถึง 100 เมตร
จึงเป็นคำถามแรกที่เราถามคุณบริลักษมณ์ว่า ทำได้อย่างไรถึงกลิ่นขี้หมู 2 พันกว่าตัว (ฟาร์มนี้เลี้ยงหมูแม่พันธุ์ 2,400 ตัว) ถึงไม่ได้โชยออกมาให้เราได้สัมผัสเลย
“เราใช้ระบบฟอกอากาศครับ ปกติหมูนอกจากที่ตัวมันเองจะมีกลิ่นสาบแล้ว ยังมีของเสียออกมาจากตัวอีกคือขี้และเยี่ยว เราจึงใช้โรงเรือนเลี้ยงแบบปิด เมื่อปิดแล้วกลิ่นและของเสียจะออกไปได้อย่างไร ตรงนี้แยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือกลิ่น แต่ละโรงเรือนจะมีพัดลมดูดอากาศขนาดใหญ่หลายตัวดูดอากาศภายในเล้าออกมา แล้วก็ทำการฟอกด้วยการพ่นละอองน้ำและดักด้วยกำแพงกาบมะพร้าว ซึ่งละอองน้ำและกาบมะพร้าวนี้จะสกัดและดักจับฝุ่นและกลิ่นที่ออกมาจากเล้าหมู (หมูที่ชาวบ้านเลี้ยงมีกลิ่นขี้หมูเพราะเลี้ยงแบบเปิด) โดยจุลินทรีย์ชีวภาพที่ทำให้เกิดกลิ่นจะถูกดูดซับไว้ในชั้นนี้แทบหมดแล้ว จากนั้นรอบๆ กำแพงกาบมะพร้าวเราก็ยังปลูกแนวต้นไม้ไว้ท้ายโรงเรือนเพื่อฟอกอากาศอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้เราแทบไม่ได้กลิ่นเลยในระยะ 40 เมตร เลยจากนั้นมาแล้วก็ไม่ต้องห่วงเรื่องกลิ่นอีกต่อไป ส่วนขี้เยี่ยวอันนี้เราได้ประโยชน์มาก ประโยชน์อย่างไร ในขี้หมูมีก๊าซมีเทนอยู่ถึง 60% เราจึงเอาขี้เยี่ยวพวกนี้มาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม โดยเมื่อสุกรถ่ายของเสียออกมารวมกับน้ำที่เราล้างเล้าหมูมันก็จะไหลไปตามท่อรวบรวมน้ำเสียที่ฝังอยู่ใต้ดินเข้าสู่ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งจะทำหน้าที่หมักย่อยสารจุลินทรีย์ในน้ำเสียแล้วเปลี่ยนรูปเป็นก๊าซชีวภาพ (ชี้ให้ดูบ่อหมักใกล้ๆห้องประชุมที่มีแผ่นพลาสติกหนาคลุมโป่งพองขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา)
ก๊าซชีวภาพที่หมักได้จากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไร้ออกซิเจนที่ทำให้ได้ก๊าซชีวภาพนี้ใน 1 ลูกบาศก์เมตร จะมีก๊าซชีวภาพอยู่ 60% ซึ่งสามารถใช้ทดแทนพลังงานในรูปแบบอื่นได้ เช่น ก๊าซหุงต้ม 0.46 กิโลกรัม น้ำมันดีเซล 0.60 ลิตร น้ำมันเบนซิน 0.67 ลิตร น้ำมันเตา 0.55 ลิตร ฟืนไม้ 1.50 กิโลกรัม และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1.2-2.5 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 40% ของการใช้ไฟฟ้าในฟาร์มทั้งหมด ปีหนึ่งประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้เกือบครึ่งของปริมาณการใช้ไฟทั้งหมด

เมื่อของเสียจากสุกรและเล้าผ่านกระบวนการหมักก๊าซชีวภาพแล้ว ก็จะเหลือกากที่ย่อยสลายยาก เราก็จะนำมาหมักไว้ถึง 5 บ่อ บ่อ 2-3 ก็จะไม่เรียกว่าน้ำเสียแล้ว จะต้องเรียกว่าน้ำปุ๋ย ซึ่งเรานำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม บางทีชาวไร่แถวนี้ เช่น ไร่อ้อย ไร่ปาล์ม ไร่มันสำปะหลัง ก็มาขอปุ๋ยของเราไปรดน้ำต้นไม้ในไร่ของเขา โดยเฉพาะหน้าร้อนและแล้งเช่นนี้ น้ำปุ๋ยจากฟาร์มของเราเป็นประโยชน์กับชาวไร่ใกล้ๆ ฟาร์มเรามาก ส่วนกากที่เหลือจากการทำก๊าซทำน้ำปุ๋ยแล้ว เราก็จะเอาเข้าสู่ลานตากเก็บไว้เป็นปุ๋ยอินทรีย์แจกจ่ายให้กับชุมชนต่อไป บางส่วนก็ไว้ใช้ในฟาร์มของเราเอง เรียกว่าจะไม่มีของเสียน้ำเสียออกไปจากฟาร์มของเราเลย เพราะฉะนั้นเรื่องจะไปกระทบกับแหล่งน้ำธรรมชาติของชาวบ้านจะไม่มีเด็ดขาด แล้วน้ำที่เราใช้ก็เป็นน้ำบาดาลจากบ่อของเราเอง ไม่มีการแย่งน้ำจากชาวบ้านอย่างเด็ดขาดเช่นกัน เรียกว่าทั้งหมดถูกควบคุมอยู่ในฟาร์ม 100% ครับ
อย่างที่ท่านเห็นว่าจะเข้ามายังโรงงานสีขาวของเราก็ถูกควบคุมเชื้อโรคแล้ว พนักงาน 30 ครอบครัวในโรงงานนี้ ที่ว่าครอบครัวเพราะเราอนุญาตให้สามีภรรยาทำงานด้วยกัน เราจะมีห้องพักให้ มีอาหารให้ 3 มื้อ ของใช้ของกินมีพร้อม วันๆ แทบไม่ได้ใช้เงิน เงินเดือนเหลือเก็บกันทุกเดือน วันหยุดจะออกไปไหนก็ได้ แต่เวลากลับเข้าฟาร์มก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ยิ่งตอนจะเข้าโรงเรือนเลี้ยงสุกรยิ่งต้องสะอาด มีการอาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกายก่อนทุกครั้ง เราควบคุมโดยสัตวบาลที่เป็นผู้จัดการ เป็นหัวหน้าคนงานของที่นี่ นี่คือมาตรฐานซีพีครับ (จริงสินะ ถ้ามีกลิ่นขี้หมู คนงาน 30 ครอบครัวจะทนอยู่ได้อย่างไร… เราคิด)
มาตรฐานซีพีเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ตามคำขวัญที่เราประกาศไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 เป็น CPF Green Farm Standand ว่า ฟาร์มหมูสมัยใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน และขณะนี้เรามีฟาร์มหมูมาตรฐานแบบนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศ 40 แห่งแล้ว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการบริโภคหมูในต่างประเทศครับ”
ทำให้เรานึกถึงรถขนหมูจากจังหวัดไกลๆ ที่ผ่านตัวเมืองเชียงรายไปยังท่าเรือเชียงแสนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ถ้าเราสามารถเลี้ยงหมูส่งออกได้เอง รายได้จะกระจายอยู่ในจังหวัดของเราอีกไม่รู้เท่าไหร่ เพราะเราคงขายได้ราคาเดียวกับราคาที่ต้องขนมาจากภาคกลาง ภาคตะวันออกตะวันตกนู่น แต่เราเสียค่าเดินทางของหมูส่งออกน้อยมาก (เชียงรายไปเชียงแสน) เศรษฐกิจเชียงรายจะต้องเติบโต ชาวบ้านจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

เราจาก “ฟาร์มวัดโบสถ์” ฟาร์มเลี้ยงสุกรสมัยใหม่มาในวันนั้นด้วยข้อสรุปชัดๆ 4-5 ประการ
1.“กลิ่นขี้หมู” ไม่มีแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในตัวฟาร์มหรือบริเวณโดยรอบ เพราะเป็นการเลี้ยงแบบปิด และมีระบบฟอกอากาศที่ได้มาตรฐาน
2.“น้ำเสีย” ไม่มีโอกาสได้หลุดรอดออกไปจากฟาร์มแน่นอน เพราะเขาได้นำไปทำก๊าซ ทำน้ำปุ๋ย และทำปุ๋ยอินทรีย์เรียบร้อยแล้ว
3.“น้ำดี” ฟาร์มก็ไม่มีวันแย่งน้ำจากชาวบ้านเด็ดขาด เพราะฟาร์มเขาจะขุดบ่อบาดาลใช้เอง
4.“ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน” จะดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจดี อบต./เทศบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีงานทำ ผลผลิตสุกรสามารถส่งเป็นสินค้าออกให้ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไม่มีวันหมดและไม่มีวันพอ ส่งผลกลับมายังชุมชน ท้องถิ่น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งผู้สูงอายุ การศึกษา ศาสนา และสุขภาพอนามัยของประชาชน
ประการสุดท้าย “ฟาร์มเชียงราย” ก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นฟาร์มหมูสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นฟาร์มที่ 41 ของประเทศ ตามโครงการโรงงานสีขาวของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPF อย่างแน่นอน เพราะ CPF เขาปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ มีอุดมการณ์มีเป้าหมายและนโยบายอย่างชัดเจนที่จะนำประเทศไทยไปสู่ “ครัวโลก” ให้ได้